ค้าปลีก Retail sale คือ

การค้าปลีก (Retail sales) และการปรับตัวของผู้ค้าปลีกในปี 2020

Retail sales คืออะไร สำคัญกับเศรษฐกิจไทยอย่างไร เกี่ยวกับสินค้าออนไลน์ได้อย่างไร ทำไมมีคนพูดถึงเยอะจัง วันนี้เราจะมาไขข้อสงสัยนั้นกัน ซึ่งก่อนจะทราบว่า Retail sales คืออะไร เริ่มจากการรู้จักธุรกิจก่อนนะคะ

ธุรกิจคือความพยายามของผู้ประกอบการที่จะผลิตหรือซื้อขายสินค้าหรือบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า แม้มีความเสี่ยงที่จะขาดทุนก็ตาม แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ ธุรกิจการผลิต ธุรกิจบริการ และธุรกิจการค้า ซึ่ง Retail sale คือประเภทหนึ่งของธุรกิจการค้านั่นเอง

การค้าปลีก หรือ Retail sales คือ กิจกรรมทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการขายสินค้าหรือบริการโดยตรงแก่ผู้บริโภคคนสุดท้ายเพื่อการใช้ส่วนตัว ไม่ใช่เพื่อธุรกิจ ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกจะเป็นผู้เก็บรักษาสินค้า กระจายสินค้าออกมาขาย ส่งเสริมการขายให้ผู้ผลิต ใกล้ชิดกับผู้บริโภค และให้ข้อมูลทั้งกับผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งการรวบรวมและคัดเลือกสินค้าก็เพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้บริโภคยิ่งนัก

Retail sales แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ มีหน้าร้านและไม่มีหน้าร้าน

มีหน้าร้าน

  • ร้านค้าปลีกตามลักษณะผลิตภัณฑ์

          ▪ ร้านขายสินค้าทั่วไป เช่น ร้านขายของชำ ร้านขายสินค้าเบ็ดเตล็ดตามชุมชน
          ▪ ร้านขายสินค้าเฉพาะสายผลิตภัณฑ์ เช่น ไทวัสดุ ขายวัสดุตกแต่งบ้าน Office Mate ขายอุปกรณ์และเครื่องเขียนสำนักงาน
          ▪ ร้านขายสินค้าเฉพาะอย่าง เช่น ร้านทอง ร้านรองเท้า ร้านหนังสือ

  • ร้านค้าปลีกตามลักษณะการเป็นเจ้าของ เช่น บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วน สหกรณ์ผู้ค้าปลีก ระบบสิทธิ์ทางการค้าหรือแฟรนไชส์ เป็นต้น
  • ร้านค้าปลีกตามลักษณะการดำเนินงาน เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ

ไม่มีหน้าร้าน

  • ขายตามบ้าน
  • ขายทางไปรษณีย์
  • ขายทางตรง
  • ขายผ่านเครื่องจักรอัตโนมัติ

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญต่อมาที่ต้องรู้จักเกี่ยวกับ Retail sales คือ การค้าส่งหรือ Wholesales

การค้าส่งหรือ Wholesales คือ กิจกรรมทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการขายสินค้าหรือบริการให้กับองค์กรที่ซื้อไปเพื่อการขายต่อหรือเพื่อใช้ในทางธุรกิจ พูดง่ายๆ ก็คือกิจกรรมทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการซื้อสินค้าของพ่อค้าแม่ค้า แล้วขายต่อให้กับองค์กร ผู้ค้าส่งรายอื่น ผู้ค้าปลีก แต่ไม่ได้ขายในปริมาณมากให้กับผู้บริโภคคนสุดท้าย

ซึ่งการค้าส่งก็ส่งผลต่อการค้าปลีกโดยตรง ทั้งมีความสำคัญต่อผู้ผลิต ที่ช่วยขายสินค้าให้ผู้ผลิต เป็นศูนย์รวมสินค้าจากผู้ผลิตหลายรายไว้ด้วยกัน ให้ความช่วยเหลือด้านคำปรึกษาและข้อมูลสินค้าแก่ผู้ค้าปลีก รวบรวมสินค้าเพื่อให้ผู้ค้าปลีกได้ซื้อสินค้าไปขายต่อ

Wholesales แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

  • ธุรกิจค้าส่งที่ผู้ผลิตทำเอง มีสาขาของผู้ผลิตและสำนักงานขายของผู้ผลิตเอง
  • ผู้ค้าส่งที่เป็นผู้ค้า มีทั้งผู้ค้าส่งที่บริการเต็มที่และผู้ค้าส่งที่ให้บริการจำกัด
  • นายหน้าและตัวแทน เช่น นายหน้า ตัวแทนการขาย ตัวแทนผู้ผลิต

เมื่อทราบความหมายและสิ่งที่เกี่ยวข้องกับ Retail sales แล้วนะคะ สำหรับการค้าปลีกของประเทศไทยนั้นมีมานานหลายสิบปีแล้ว และช่วงปีหลังๆ ได้มีการแยกประเภทของการค้าปลีกแบบเป็นออฟไลน์และออนไลน์ ซึ่งการค้าออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น ผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น และสนใจอยากเป็นผู้ค้าปลีกออนไลน์มากขึ้น

ข้อดีของ Retail sales ออนไลน์ คือ ใช้งบประมาณน้อย ไม่ต้องเสียค่าเช่าหน้าร้าน ใช้พื้นที่ในอินเทอร์เน็ตได้ฟรี ลงสินค้าในแพลตฟอร์มฟรี อาจจะเสียค่าโปรโมทเล็กน้อย ค่าระบบ POS เพื่อบริหารจัดการร้าน แต่ถ้าเทียบกับกำไรที่ได้ก็ตั้งตัวกันได้เลยทีเดียว

ข้อดีของ Retail sales ออฟไลน์ คือ สินค้าบางอย่างหาไม่ได้จากออนไลน์ สินค้าขนาดใหญ่เสียค่าส่งแพงเกินจำเป็น ลูกค้าได้เห็นสินค้าจริง จับต้องได้ ทดลองใช้ได้ ไม่ต้องกลัวโดนหลอก ซื้อที่เคาท์เตอร์ไม่ต้องกลัวของปลอม

การค้าปลีกทั้งสองชนิดมีข้อดีและข้อเสีย แก้ไขข้อด้อย และเพิ่มข้อดีในร้านค้าปลีกของท่านจะดีกว่า ในปัจจุบันมีการปรับตัวทั้งกลุ่มค้าปลีกออฟไลน์และออนไลน์มากมายเพื่อลงสนามแข่งขันและรองรับผู้บริโภคที่มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ห้างสรรพสินค้าที่เคยทำแค่การค้าปลีกแบบออฟไลน์ มีการลงสินค้าในเว็บไซต์ของตัวเองและขยายไปยังแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภคออนไลน์ ไม่ต้องเข้าห้างให้รถติดก็ซื้อได้เช่นกัน ยี่ห้อเดียวกัน ปริมาณเท่ากัน นอกจากนั้นยังมีส่งเดลิเวอรี่ถึงบ้านทั้งในแพลตฟอร์มของตนเองและร่วมกับแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่อื่นๆ

เมื่อลูกค้าไม่ได้ลองสินค้าด้วยตัวเอง ก็เกิดปัญหาผิดสี ผิดไซส์ ไม่ตรงปก ไม่เหมือนรูปที่ถ่ายมา ทางแบรนด์จึงแก้ปัญหาโดยการใช้ปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วย เพียงกรอกส่วนสูง น้ำหนัก สีผิว ก็ทราบได้เลยว่าใส่ออกมาจะเป็นอย่างไร ชายกระโปรงจะอยู่ประมาณไหน ใส่แล้วคับหรือไม่ ไม่เพียงแต่แบรนด์เสื้อผ้า รวมไปถึงแบรนด์รองเท้า สร้อย กำไลข้อมือ แม้กระทั่งเครื่องสำอางที่โดนลูกค้าบ่นนักบ่นหนาว่าทำไมต้องมาลองสีและเนื้อสัมผัสถึงในห้าง รถก็ติด ที่จอดรถก็หายาก จนทำให้เกิดรีวิวขึ้นมา และจากรีวิวกลายเป็นปัญญาประดิษฐ์ แอพพลิเคชันที่เลือกลิปแล้วส่องหน้าตัวเอง จะทราบเลยว่าลิปสีนั้นทาบนปากแล้วเข้มหรืออ่อน สีอายแชโดว์ว่าพอตาบนตาแล้วเข้ากับเราไหม เมื่อเลือกสีที่ถูกใจได้แล้วก็กดสั่งเดลิเวอรี่ให้มาส่งถึงหน้าบ้านได้อย่างรวดเร็ว แบรนด์ขายอาหารสดก็ไม่น้อยหน้า ลูกค้าสามารถเลือกผักหรือผลไม้สดของวันนั้นได้จากหน้าร้าน และไปส่งให้ท่านภายในไม่กี่นาทีจากสาขาที่ใกล้ที่สุด เทคโนโลยีช่างสะดวกสบายอะไรเช่นนี้ แถมยังลดการใช้พนักงานที่ต้องคอยดูแลลูกค้าลงไปอีก

ทางด้านออนไลน์นอกจากจะซื้อง่ายขายคล่อง ไม่กี่คลิกเงินก็ออกจากกระเป๋าสตางค์ได้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ส่งของแล้วลูกค้าไม่ได้ของ ไม่ว่าจะส่งไม่ถึง โดนขโมย สินค้าไม่ครบ จึงหันมาเปิดหน้าร้านเล็กๆ เพื่อนัดรับส่งของกับลูกค้าโดยตรง มีตัวอย่างสินค้าแสดงที่หน้าร้าน หรือร่วมหุ้นกับแบรนด์ออนไลน์อื่นๆ เพื่อเปิดหน้าร้านขึ้นมา มีร้านรวมแบรนด์เสื้อผ้า รองเท้าดังที่ขายในแพลตฟอร์มออนไลน์ มาให้สัมผัสเนื้อผ้า มองสีกันให้ชัดเจนก่อนซื้อ เพื่อติดต่อกับผู้บริโภคโดยตรง หมดกังวลเรื่องของหายอีกต่อไป

เครื่องมือสำคัญที่ช่วยบริหารร้านค้าปลีกทั้งออนไลน์และออฟไลน์คือระบบ POS ที่ช่วยเก็บข้อมูลลูกค้า เช็คสต็อกสินค้า ทำโปรโมชัน สะสมแต้มผ่านระบบสมาชิก ฯลฯ ที่จะช่วยให้วิเคราะห์ยอดขาย เพื่อให้ร้านมีกำไรเพิ่มขึ้นและเจ้าของเหนื่อยน้อยลง ปัจจุบันสามารถเข้าถึงระบบ POS ได้ทุกที่ทุกเวลา ยิ่งทำให้การบริหารร้านง่ายยิ่งขึ้นอีก

สำหรับผู้ค้าทั้งหลาย เมื่อได้ทราบแนวทางเหล่านี้ ลองนำไปปรับใช้กับร้านของท่านในแนวที่ถนัด เรียนรู้เทคโนโลยีที่จะเป็นประโยชน์แก่ร้านของท่าน เชื่อมโยงระหว่างออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน ค่อยๆ ทดลองทำตามแนวทางที่จะทำให้กำไรเพิ่มขึ้น กำไรหดหายก็หาทางเอากลับคืนมา กำไรคงที่อยู่ก็ทำให้เพิ่มขึ้น หรือหากมีไอเดียอื่นๆ ที่น่าสนใจก็เข้ามาเสนอความคิดเห็น หรือพูดคุยกันได้ด้านล่างนี้เลย ขอให้โชคดีกับการค้าขายนะคะ

 

 

More To Explore

GPS Tracking คือ