รู้หรือไม่? ทำฟันก็ใช้สิทธิประกันสังคมได้นะ

หลายคนอาจรู้เรื่องประกันสังคมแค่ผิวๆว่า มีประโยชน์เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ แต่อาจไม่รู้ว่า การทำฟันก็อยู่ในความคุ้มครองด้วยเหมือนกัน

สุขภาพฟันเป็นเรื่องทีถูกละเลยมากพอสมควร บางคนอาจดูแลสุขภาพร่างกายดีหมด ยกเว้นสุขภาพฟัน ไปตรวจสุขภาพทุกปี กินอาหารดี หมั่นออกกำลังกาย รูปร่างดี แต่กลับไม่ยอมไปหาหมอฟัน นอกจากแปรงฟันแล้วก็ไม่ดูแลฟันด้วยวิธีอื่นอีกเลย สุดท้ายแล้วฟันก็มีปัญหารุนแรงจนต้องเจ็บตัว เสียทั้งเงินเสียทั้งเวลาอีกต่างหาก

ดังนั้นอย่าละเลย หมั่นไปหาหมอฟันสักปีละ 2 ครั้งกำลังดี และถ้าใครที่ไม่ไปเพราะกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายละก็ ไม่ต้องกังวล เพราะประกันสังคมให้ความคุ้มครองเรื่องระบบทันตกรรมแบบครอบคลุมจริงๆ

จากนี้เราจะมาดูกันว่า ระบบทันตกรรมในความคุ้มครองของประกันสังคมมีสิทธิอะไรบ้างที่สามารถใช้ได้ และมีรายละเอียดปลีกย่อยอะไรที่ต้องรู้บ้าง

ค่าใช้จ่ายที่สามารถเบิกได้ :

  • ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าฟันคุด เบิกได้ 900 บาทต่อปี ถ้าหากไปใช้บริการที่คลินิกหรือโรงพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้ ก็จะไม่ต้องออกเงินล่วงหน้าไปก่อน อย่างไรก็ตาม ประกันสังคมจะให้เงินจำนวนเพียงเท่านี้ ไม่มากไปกว่านี้ไม่ว่ากรณีใดๆ นั่นหมายความว่าผู้ประกันตนจะต้องเลือกใช้บริการที่คลินิกหรือโรงพยาบาล ที่มีค่าใช้จ่ายไม่เกิน 900 บาท ถ้าหากแพงกว่านั้น ผู้ประกันตนจะต้องจ่ายส่วนต่างเอง
  • ฟันเทียมชนิดถอดได้แบบบางซี่ เบิกได้ไม่เกิน 1,300 บาท(1-5 ซี่) และ1,500 บาท(มากกว่า 5 ซี่) ภายใน 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ใส่ฟันเทียม
  • ฟันเทียมชนิดถอดได้แบบทั้งปาก เบิกได้ไม่เกิน 2,400 บาท(ฟันแถบบนหรือล่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง) และ 4,400 บาท(ฟันทั้งแถบบนและล่าง) ภายในเวลา 5 ปี

ในกรณีที่ผู้ประกันตนไปใช้บริการที่คลินิกหรือโรงพยาบาลที่ไม่ได้ลงทะเบียนไว้ จะต้องออกเงินไปก่อน แล้วค่อยนำหลักฐานมาขอเบิกเงินที่สำนักงานประกันสังคมทีหลัง โดยให้เตรียมเอกสารมาดังนี้

  • แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีทันตกรรม (สปส.2-16)
  • ใบรับรองแพทย์
  • ใบเสร็จรับเงิน
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้
  • เวชระเบียนของแพทย์ผู้รักษา(กรณีเบิกฟันปลอมฐานอคริลิก)
  • กรณีขอรับเงินทางธนาคาร ให้แนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์หน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของธนาคารต่อไปนี้

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน)

ข้อควรรู้

  • ผู้ประกันตนที่มีสิทธิใช้บริการระบบทันตกรรมภายใต้การดูแลของประกันสังคมนั้น คือผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ 39 เท่านั้น ดังนั้นใครที่ทำงานอิสระ ถึงแม้ว่ามีประกันสังคม ก็จะไม่ได้สิทธิ
  • ผู้ประกันตนจะต้องส่งเบี้ยประกันให้ครบ 3 เดือน(ภายในไม่เกิน 15 เดือน)ก่อนถึงจะได้รับความคุ้มครอง
  • สำหรับคนที่ลาออกจากงานประจำแล้ว จะยังสามารถใช้สิทธิความคุ้มครองต่อได้อีกครึ่งปีนับตั้งแต่วันที่ลาออก
  • ตอนทำประกันสังคม ให้เลือกคลินิกหรือโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้านที่สุด เพื่อที่จะได้สะดวกเดินทาง ไม่ต้องไปทำที่อื่นให้ต้องออกค่าใช้จ่ายไปก่อน
  • เดิมทีมีแต่สถานพยาบาลของรัฐ แต่ปัจจุบันมีของเอกชนให้เลือกมากมายด้วยเช่นกัน ทำให้สะดวกมากขึ้น ซึ่งคลินิกหรือสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการจะติดป้าย “สถานพยาบาลแห่งนี้ให้บริการผู้ประกันตนกรณีทันตกรรม ทำฟัน ไม่ต้องสำรองจ่าย” ไว้ข้างหน้า สังเกตได้ไม่ยาก
  • การขอเบิกค่าใช้จ่ายย้อนหลัง ถ้าหากไม่สะดวกไปติดต่อที่สำนักงานประกันสังคม จะเบิกผ่านทางไปรษณีย์ก็ได้ โดยให้เตรียมหลักฐานตามที่ระบุไว้ข้างบนให้ครบ
  • จำนวนค่าใช้จ่ายที่ให้เบิกได้ คือจำนวนวงเงินสูงสุด หมายความว่าภายใน 1 ปีจะเบิกเกินกว่านั้นไม่ได้ แต่ถ้าสมมุติว่าไปทำฟันมาแล้ว และค่าใช้จ่ายต่ำกว่าวงเงิน เราก็ยังสามารถเบิกส่วนที่เหลือได้เรื่อยๆ กี่ครั้งก็ได้ จนก่อนกว่าจะเต็มวงเงินที่กำหนด
  • ยอดวงเงินที่เหลือในปีๆนึงจะไม่สามารถนำไปทบยอดในปีถัดๆไปได้ เพราะเป็นสิทธิแบบปีต่อปี
  • การเบิกค่าใช้จ่าย ต้องทำภายใน 2 ปีนับตั้งแต่วันที่ทำฟัน และหลังจากทำเรื่องเบิกไปเรียบร้อยแล้ว ก็จะได้เงินภายในประมาณ 1-2 สัปดาห์ ถ้าหากนานกว่านั้น ให้รีบติดต่อสำนักงานประกันสังคมทันที เผื่อว่ามีอะไรผิดพลาด
  • การเบิกค่าใช้จ่ายนั้น ผู้ประกันตนต้องทำด้วยตัวเอง ไม่สามารถให้ใครทำแทนได้
  • ประกันสังคมให้ความคุ้มครองกันรักษาด้านทันตกรรมเท่าที่ระบุไว้เท่านั้น ถ้าเป็นการรักษาด้านอื่นๆที่ไม่จำเป็น หรือการรักษาที่มีจุดประสงค์เพื่อความงาม เช่น การตัดแต่งเหงือก การฟอกสีฟัน การจัดฟัน ฯลฯ จะไม่คุ้มครอง ผู้ประกันตนจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด

สามารถติดตามบทความเพิ่มเติมได้ ที่นี่..

More To Explore

gps-3