อาการหลับในคืออะไร?
อาการหลับใน เป็นสภาวะของผู้มีอาการหลับในระยะเวลาสั้นโดยที่ยังลืมตาอยู่ ซึ่งคล้าย ๆ อาการกึ่งหลับกึ่งตื่น ที่อาการค่อนไปทางภาวะหลับแบบฉับพลัน สามารถที่จะปลุกให้ตื่นได้โดยง่าย แต่ผลกระทบถือว่าร้ายแรงมากหากผู้มีอาการหลับในเป็นเมื่อตอนขับรถยนต์ อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บถึงขั้นร้ายแรงทำให้เสียชีวิตได้
สาเหตุของอาการ หลับใน
- ผู้ขับขี่พักผ่อนไม่เพียงพอ อดหลับอดนอน ก่อนที่จะมาขับรถ
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- การรับประทานยาบางชนิดที่ทำให้เกิดอาการง่วงนอน เช่น ยาแก้หวัดบางชนิด ยาแก้แพ้
- กรรมพันธุ์
เมื่อทราบสาเหตุของอาการแล้ว ผู้โดยสารที่นั่งรถคู่คนขับโดยเฉพาะการเดินทางในตอนกลางคืนที่เป็นระยะทางไกล ๆ ก็ให้พิจารณาอาการของคนขับที่มีต่อไปนี้ว่าเข้าข่ายจะเกิดสภาวะหลับขณะขับรถหรือไม่
สัญญาณแจ้งเตือนให้เฝ้าระวัง
- คนขับรถมีอาการหาวบ่อย ๆ
- การหันซ้ายขวาเพื่อดูกระจกมองหลัง ซ้ายขวา ดูเชื่องช้า
- หนังตาหย่อน คล้ายตาจะปิด ตาปรือ
- เริ่มขับรถกินเลนหรือเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งนาน ๆ
หากตรวจพบคนขับรถมีอาการดังกล่าว ผู้โดยสารที่นั่งมาด้วยให้พยายามปลุกหรือชวนคนขับรถคุย เพื่อเรียกสติแล้วค่อยให้คนขับรถชะลอความเร็วและแวะเข้าปั๊มน้ำมันหรือจอดริมข้างทางที่ปลอดภัยเพื่อนอนหลับและพักสายตา ก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุอย่างไม่คาดคิด
แล้วจะมีวิธีรับมือกับอาการเหล่านี้ได้อย่างไร? เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้คนขับรถมีอาการง่วงนอนในขณะขับรถ
วิธีรับมือกับอาการหลับใน
- พักผ่อนให้เพียงพอ จากสาเหตุเบื้องต้นที่กล่าวไปแล้วว่า อาการ หลับใน เกิดจากสาเหตุหลักที่มาจากการที่คนขับรถนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอตามที่รางกายต้องกาย คนขับจะต้องได้รับการนอนพักผ่อนอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง ถ้าเวลาในการนอนหลับน้อยกว่านั้นแล้วมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการหลับคาพวงมาลัยได้ โดยเฉพาะการขับรถทางไกลซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางที่ยาวนาน ยิ่งหากเป็นตอนกลางคืนด้วยแล้วยิ่งทำให้บรรยากาศในอาการง่วงนอนมีมากขึ้น ประกอบกับแอร์รถเย็น ๆ ยิ่งทำให้เกิดอาการหาวบ่อยเมื่อบรรยากาศได้ที่ ความเย็นสบายจากแอร์ก็สามารถทำให้คนขับรถพร้อมที่หลับได้เสมอ
- ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมจะด้วยการดื่มก่อนขับหรือดื่มระหว่างขับ ก็จะทำให้ความสามารถในการขับขี่ลดลงและเป็นการกระทำความผิดทางกฎหมายอีกด้วย เมื่อรู้ว่าจะมีการขับรถในระยะทางไกล คนขับก็ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากเป็นไปได้ให้งดการดื่มก่อนการขับรถ 2 วัน เพื่อที่ร่างกายจะได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ เพราะบางทีฤทธิ์แอลกอฮอล์อาจเหลือตกค้างในร่างกายก็เป็นได้ ทำให้ร่างกายฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่
- รับประทานอาหารอย่างพอดี หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินคำว่า “หนังท้องตึงหนังตาหย่อน” มาก่อน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่เฉพาะคนขับรถเท่านั้น คนทำงานทั่ว ๆ ไปก็สามารถเกิดอาการง่วงนอนหลังรับประทานอาหารก็เป็นได้ โดยเฉพาะอาหารมื้อเที่ยง ที่มักเกิดอาการง่วงนอนมากที่สุด ดังนั้นหากต้องมีการขับรถแล้วให้รับประทานอาหารแต่พอดีไม่ควรอิ่มจนเกินไป
- พกขวดน้ำไว้ช่วยได้ หลาย ๆ คนคงไม่รู้ว่าการจิบน้ำบ่อย ๆ สามารถช่วยลดอาการง่วงนอนได้ เพราะน้ำสามารถช่วยลดอาการอ่อนเพลียจากการขับรถได้ ทำให้ร่างกายไม่เหนื่อยล้าและเผลบหลับได้ ผลพลอยได้อีกอย่างคือเมื่อจิบน้ำบ่อย ๆ ก็จะทำให้คนขับรถมีอาการปวดปัสสาวะ ทำให้ต้องแวะเข้าห้องน้ำอยู่ตลอดเวลาและทำให้เกิดการตื่นตัวอยู่
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยาแก้หวัด แก้แพ้ หากรู้สึกไม่สบายมีความจำเป็นจะต้องรับประทานยาแก้หวัดหรือยาแก้แพ้ ก็ให้ยกเลิกการขับรถทางไกลออกไปก่อน เพราะยาบางชนิดเมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะเกิดอาการง่วงนอน เนื่องจากฤทธิ์ยาต้องการให้ร่างกายได้พักผ่อน ซึ่งส่งผลต่อการมองเห็นและทำให้สมรรถภาพในการขับขี่ลดลง ทำให้มีโอกาสที่เกิดอุบัติเหตุได้โดยง่าย
- พกของทานเล่น กินแก้ง่วง ในระหว่างเดินทางไกลคงจะมีหลายคนที่ชอบพกขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ เพื่อใช้ในการแก้ง่วง เช่น ลูกอม หมากฝรั่ง ซึ่งสามารถช่วยยืดอาการง่วงนอนออกไปได้ แต่ที่อยากแนะนำมากที่สุดคือผลไม้รสเปรี้ยว โดยเฉพาะส้มและมะนาว ซึ่งสามารถช่วยแก้อาการ หลับใน ได้เป็นอย่างดี โดยการรับประทานทีละนิด แต่บ่อย ๆ อาจทุก 30-60 นาทีต่อครั้ง เพราะไม่อย่างนั้นแล้วจะเป็นการรับประทานที่อิ่มเกินไปจนทำให้ง่วงนอนมากกว่าเดิม
- ให้คนนั่งข้างชวนคุย การขับรถทางไกลคงมีน้อยคนที่ขับรถเพียงลำพังคนเดียว ควรหาเพื่อนนั่งรถไปด้วยเพราะจะได้ช่วยเหลือเวลาเกิดเหตุฉุกเฉินได้ อีกทั้งยังเป็นเพื่อนคุยแก้ง่วงหรือช่วยหยิบจับน้ำ ขนม ผลไม้ให้รับประทานระหว่างทางขับรถได้ เพราะดีกว่าขับคนเดียวแล้วหยับจับอะไรก็ลำบาก แถมเหงาไม่มีเพื่อนคุยอีกต่างหาก
- พักรถในปั๊มน้ำมัน ถ้าถึงที่สุดแล้วไม่สามารถฝืนร่างกายอีกต่อไปได้ เพื่อความไม่ประมาทเมื่อรู้สึกว่าตนเองง่วงนอนเป็นอย่างมาก ก็ให้มองหาปั๊มน้ำมันที่ดูสว่าง ๆ หรือที่พักที่ปลอดภัยแล้วจอดแวะพักลงไปล้างหน้าเข้าห้องน้ำหรือจะนอนพักสัก 10-30 นาที เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อน โดยเมื่อจอดรถให้ดับเครื่องยนต์และแง้มกระจกเพื่อให้อากาศได้ถ่ายเท เมื่อพักผ่อนเต็มที่ค่อยออกเดินทางต่อ จะเป็นการดีกว่าที่จะฝืนทนขับและทำให้เกิดอุบัติเหตุจนทำให้เสียชีวิตก็เป็นได้
อาการ หลับใน เป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ หากแต่สามารถป้องกันได้เมื่อมีสติและความพร้อมของร่างกาย เมื่อรู้ว่าร่างกายไม่พร้อมก็ไม่สมควรที่ฝืนขับรถในระยะทางไกล ๆ เพราะนั่นเท่ากับการเอาชีวิตเข้าไปเสี่ยงโดยไม่จำเป็น เมื่อเวลาขับรถไปได้สักช่วงเวลาหนึ่งแล้วเกิดอาการง่วงนอน ก็ให้มีสติและแวะพักตามปั๊มน้ำมันหรือแวะซื้อของขบเคี้ยว ผลไม้รสเปรี้ยว เพื่อรับประทานให้ร่างกายเกิดการตื่นตัวไม่ให้ง่วงนอนได้ เพราะหากคนขับรถยังฝืนที่จะขับต่อไปไม่เพียงแต่จะทำให้ตนเองเกิดอุบัติเหตุเท่านั้น แต่ยังมีเพื่อนร่วมทางอีกมากที่ต้องมาเดือดร้อนจากการกระทำในครั้งนี้ สามารถติดตามบทความเพิ่มเติมได้ ที่นี่..