Fleet Management กับองค์ประกอบที่น่าสนใจ
หากใครที่เพิ่งเข้ามาในแวดวงธุรกิจขนส่ง คงจะงงไม่น้อยเกี่ยวกับคำศัพท์ต่าง ๆ ที่ใช้เรียกในระบบขนส่ง แม้ความหมายจะใกล้เคียงกันก็ตาม แต่การใช้งานหรือรูปแบบรายละเอียดจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิง ยกตัวอย่าง เช่น คำว่า Logistics กับ Transport แม้สุดท้ายแล้วจะมุ่งเน้นไปกับคำว่าการขนส่ง แต่รายละเอียดลึก ๆ แล้วมีมากกว่านั้น เช่น การบรรจุหีบห่อ การจัดเก็บ รวมถึงการเคลื่อนย้ายวัตถุต่าง ๆ เพื่อให้ไปถึงที่หมาย การเลือกใช้เส้นทางที่เหมาะสมในการขนส่งเป็นต้น ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงคำว่า Fleet Management อาจทำให้หลายคนเกิดอาการงุนงงกับศัพท์ชนิดนี้ไม่มากก็น้อยและเพื่อให้เข้าใจว่ามันเกี่ยวข้องกับระบบขนส่งอย่างไรหรือจะแตกต่างออกมา มีองค์ประกอบอะไรบ้างสามารถติดตามได้ในบทความต่อไปนี้
ความหมายที่แท้จริง
Fleet Management หมายถึง ระบบบริหารจัดการที่นำเอาเทคโนโลยี 2 ชนิด มาใช้ร่วมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานด้านการขนส่งให้ได้ดีที่สุด นั่นคือระบบ GPS และ GIS หลายคนคงจะคุ้นเคยกับคำว่า GPS แล้วส่วนคำว่า GIS คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร สามารถนำมาใช้งานด้านขนส่งได้จริงหรือ ก็สามารถบอกได้ว่า GIS คือ Geographic Information System หรือระบบสารสนเทศทางด้านภูมิศาสตร์ที่ทำงานผ่านระบบดาวเทียมโดยให้การแสดงผลเป็นแผนที่ ที่แสดงถึงภูมิศาสตร์ในพื้นที่นั้น ๆ ที่ GPS ไม่สามารถระบุได้ ยกตัวอย่าง สภาพแวดล้อมที่เป็นภูเขา ที่มีการขับรถขึ้น-ลงเขา ทาง GIS ก็จะประมวลผลภาพถ่ายออกมาในรูปแบบ 2 และ 3 มิติ ตามแต่เทคโนโลยีที่รองรับในขณะนั้นว่าสามารถมองเห็นพื้นที่เป็นแบบใด เมื่อนับมาประยุกต์ใช้กับ GPS ที่ทำงานโดยการระบุตำแหน่ง หรือที่ตั้งของรถขนส่ง ก็จะทำให้เกิดความแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในการบอกพิกัดของ GPS จากเดิมจะบอกได้ด้วยตำแหน่งแบบ x, y แต่หากแต่ไปเจอพื้นที่ ที่เป็นภูเขา จะทำให้พิกัดคลาดเคลื่อนได้ เช่น ถ้ามีการใช้งาน GPS ติดตามรถขนส่งวิ่งไปในภูมิประเทศที่เป็นภูเขา จะมองเห็นว่ารถกำลังวิ่งแต่ทำไมระดับความเร็วถึงลดลงและใช้เวลาในการเดินทางที่มากขึ้น เมื่อมีระบบ GIS เข้ามาทำงานร่วมด้วยก็จะมองเห็นแผนที่เป็นระบบสามมิติมากขึ้นว่ารถขนส่งที่วิ่งช้าเพราะมีการวิ่งในทางชัน ไม่สามารถทำความเร็วได้ สามารถนำข้อมูลที่ได้รับมาประเมินผลการทำงานกันต่อไปในอนาคต
องค์ประกอบที่สำคัญ
ในการใช้งาน Fleet Management ให้เกิดประสิทธิภาพเมื่อการนำเอาสองระบบมารวมกัน แน่นอนว่าจะต้องมีการประยุกต์ใช้ให้ทั้งสองระบบเข้ากันได้อย่างสมบูรณ์แบบมากที่สุด ประกอบไปด้วยส่วนที่สำคัญคือ
- GPS Box ใช้สำหรับติดตั้งภายในรถยนต์ พร้อมระบบเสริมอื่น ๆ ซึ่งนอกเหนือจากการทำหน้าที่หลักแค่บอกพิกัด และความเร็วของรถยนต์แล้ว ยังบอกระดับน้ำมันเชื้อเพลิง ระยะทางที่สามารถใช้เดินทางได้ ส่งข้อมูลผ่านระบบ GPS กลับมายัง Server ที่มีระบบประมวลผล
- ระบบ Fleet Management คือโปรแกรมการทำงานชนิดหนึ่งมีหน้าที่ในการรายงานและประมวลผลการทำงานแบบปัจจุบัน ซึ่งข้อมูลทั้งหมดที่ทาง GPS ส่งมาจะทำการประมวลผลออกมาเป็นรูปแบบของแผนที่ ที่สามารถมองเห็นการเคลื่อนไหวของรถยนต์ขนส่งนั้นได้ พร้อมระบุตำแหน่ง เส้นทาง ความเร็วที่รถกำลังใช้งานอยู่ พร้อมรายงานสรุปผลของรถที่ใช้เวลาวิ่งที่ผ่านมาว่ามีใช้ระยะเวลาในการขับนานเกินกฎหมายกำหนดหรือไม่ เมื่อถึงเวลาพัก ได้พักครบตามกำหนดหรือยัง เพื่อนำไปวิเคราะห์การทำงานในส่วนอื่นอีก ด้านตัวโปรแกรมเองก็จะมีหลักการทำงานตามรายละเอียดที่สำคัญดังนี้
– การระบุตำแหน่งของยานพาหนะที่ตรวจจับได้แบบเรียลไทม์ เมื่อมีการเรียกใช้งานโปรแกรมพร้อมภาพเคลื่อนไหว
– ภาพแผนที่พร้อมข้อมูลทางภูมิศาสตร์ในขณะที่รถกำลังวิ่งอยู่
– ระบบแสดงถึงสัญลักษณ์ของสถานที่สำคัญ ๆ ร่วมกับการค้นหาสถานที่สำคัญได้ เช่น ปั๊มน้ำมัน สถานีตำรวจ
– มีการรายงานผลการเคลื่อนที่ของรถ ความเร็ว ระยะทางที่ใช้ไป เวลาในการเดินทาง
– รายงานย้อนหลัง
– การวิเคราะห์หาต้นทุนในการขนส่งในระยะทางที่ผ่านมา
– การเปรียบเทียบระหว่างรถที่ใช้งานแต่ละประเภทในเส้นทางเดียวกัน เพื่อการเลือกใช้ยานพาหนะที่ให้ประโยชน์สูงสุด
– ระบบควบคุมความเร็วและเส้นทางการวิ่ง เพื่อป้องการการออกนอกพื้นที่ที่กำหนด
ประโยชน์ที่จะได้รับเมื่อใช้งาน
1.หมดกังวลเรื่องรถหายหรือการขโมยสินค้าที่บรรทุกไป
2.สามารถปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดได้ ทั้งในเรื่องของการควบคุมความเร็วรถ น้ำหนักที่บรรทุก รวมถึงกฎหมาย gps
3.ลดเวลาในการเดินทาง สามารถปรับเปลี่ยนเส้นทางจากศูนย์ควบคุมได้ง่าย
4.ถึงที่หมายอย่างปลอดภัยและตรงเวลา
5.ควบคุมพฤติกรรมของพนักงานขับรถได้ง่ายขึ้น รวมถึงช่วยแจ้งเตือนเมื่อมีการขับรถที่เร็วกว่ากฎหมายกำหนด เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุได้
6.มีความสะดวกในการเรียกดูรายงานผลการบันทึกการขับขี่ย้อนหลังได้
7.หมดปัญหาการทุจริตของพนักงานที่นำรถไปใช้งานส่วนตัวและออกนอกเส้นทาง รวมถึงการขโมยน้ำมันเชื้อเพลิงไปขายได้
8.ควบคุมค่าใช้จ่ายในการขนส่งได้อย่างแม่นยำเมื่อนำปริมาณน้ำมันที่มีอยู่มาคำนวณกับความเร็วของรถที่ใช้ขณะนั้นว่าสามารถวิ่งไปได้ไกลเป็นระยะทางไกลเท่าใด
9.นำข้อมูลจากรายงานการขนส่งมาวิเคราะห์การทำงานของพนักงานขับรถ เพื่อวางแผนการทำงานให้ได้มีประสิทธิภาพ กำหนดมาตรฐานในการทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด
10.สามารถตอบปัญหาจากลูกค้าได้อย่างชัดเจน ว่ารถขนส่งที่กำลังเดินทางไปอยู่ในตำแหน่งและสถานที่ใด และใช้เวลาอีกเท่าใดจะถึงที่หมาย
ดังจะเห็นได้ว่าระบบ Fleet Management มีความสำคัญและน่าสนใจอย่างไรในระบบขนส่ง รวมถึงองค์ประกอบที่สำคัญที่ทำให้ Fleet Management สามารถทำงานได้ อีกทั้งประโยชน์ที่จะได้รับเมื่อมีการติดตั้งระบบนี้ สำหรับหลายคนที่อยู่ในระบบขนส่งคงเคยได้ใช้และสัมผัสมาบ้างแล้ว หากแต่ผู้ที่ต้องการเข้ามาทำธุรกิจนี้คงไม่สามารถมองข้ามคุณสมบัติที่ดีของระบบไปได้ เพื่อการใช้งานและพัฒนาระบบขนส่งให้มีประสิทธิภาพและเพื่อเป็นที่ยอมรับจากลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ สามารถติดตามบทความเพิ่มเติมได้ ที่นี่..